ความเป็นมาของบัว

ความเป็นมาและลักษณะทั่วไป

ความเป็นมา

               บัว  เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae จัดเป็นพืชน้ำล้มลุกที่มีอายุหลายปี  พบได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อน เขตอบอุ่นและเขตหนาว  จำแนกถิ่นกำเนิดและการเจริญเติบโตได้ 2 จำพวกคือ

  1. บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตอบอุ่นและเขตหนาว (Subtropical and Temperate Zones)  เช่น  ยุโรป  อเมริกาเหนือ  ภาคใต้ของอเมริกาใต้  ตอนเหนือของอินเดีย  จีนและออสเตรเลีย   บัวประเภทนี้มีเหง้าสะสมอาหารอยู่ในดิน  เมื่อถึงฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นแผ่นน้ำแข็ง  จะทิ้งใบและอาศัยอาหารในเหง้าเลี้ยงตัวเอง  เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิน้ำแข็งละลายหมดก็จะเจริญแตกหน่อต้นใหม่ และจะเจริญเติบโตออกดอกออกผลหมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป  เรียกบัวประเภทนี้ว่า Hardy Type หรือ Hardy Waterlily  นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Castalia Group หรือ อุบลชาติประเภทยืนต้น
  2. บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตร้อน (Tropical Zones)  เช่น  ทวีปเอเซียตอนกลางและตอนใต้  อาฟริกา  ออสเตรเลียตอนเหนือ  อเมริกากลางและอเมริกาใต้  บัวประเภทนี้กำเนิดและเจริญเติบโตได้ในเขตร้อนเขตเดียว  ถ้านำไปปลูกในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว เมื่อเข้าฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นน้ำแข็งทำให้บัวประเภทนี้ต้องตายไป  จึงเรียกบัวประเภทนี้ว่า Tropical Type หรือ Tropical Waterlily  นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Lotus Group หรือ อุบลชาติประเภทล้มลุก

ลักษณะโดยทั่วไป

             บัว  เป็นพืชน้ำล้มลุก  ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็น เหง้า ไหล หรือหัว  ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น  โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ  รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ  บางชนิดมีก้านใบติดอยู่ที่หลังใบ  ดอกเป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ  ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ  กลีบดอกมีทั้งชนิดซ้อนและไม่ซ้อน  มีสีสันแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด  บัวที่พบและนิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 3 สกุล คือ

           

     สกุลบัวหลวง                                สกุลบัวสาย                                สกุลบัววิกตอเรีย

  1. สกุลบัวหลวง (Lotus)  เป็นบัวในสกุล Nelumbo มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ปทุมชาติ หรือ บัวหลวง  มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชีย เช่น  จีน  อินเดียและไทย  มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้าและไหลซึ่งเมื่อยังอ่อนจะมีลักษณะเรียวยาว  เมื่อโตเต็มที่จะอวบอ้วนเนื่องจากสะสมอาหารไว้มาก  มีข้อปล้องเป็นที่เกิดของราก  ใบและดอกเกิดจากหน่อที่ข้อปล้องแล้วเจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ  ใบเป็นใบเดี่ยวมีลักษณะกลมใหญ่สีเขียวอมเทา  ขอบใบยกผิวด้านบนมีขนอ่อนๆ ทำให้เมื่อโดนน้ำจะไม่เปียกน้ำ  เมื่อใบยังอ่อนใบจะลอยปิ่มน้ำ  ส่วนใบแก่จะช฿พ้นน้ำ  ก้านใบและก้านดอกมีหนาม  ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ชูสูงพ้นผิวน้ำ  มีทั้งดอกป้อมและดอกแหลม  บานในเวลากลางวันมีกลิ่นหอมอ่อนๆ  ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ  ด้านนอกมีสีเขียว  ด้านในมีสีเดียวกับกลีบดอก  กลีบดอกมีทั้งชนิดดอกซ้อนและไม่ซ้อน  สีของกลีบดอกมีทั้งสีขาว ชมพู หรือเหลือง แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดพันธุ์  บัวในสกุลนี้เป็นบัวที่รู้จักกันดีเพราะเป็นบัวที่มีดอกใหญ่นิยมนำมาไหว้พระและใช้ในพิธีทางศาสนา  เหง้าหรือที่มักเรียกกันว่ารากบัวและไหลบัวรวมทั้งเมล็ดสามารถนำมาเป็นอาหารได้
  2. สกุลบัวสาย (Waterlily)  เป็นบัวในสกุล Nymphaea มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า อุบลชาติ หรือ บัวสาย  บัวสกุลนี้มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวหรือเหง้า  ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อและเจริญขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอด  บางชนิดมีใบใต้น้ำ  ใบเป็นใบเดี่ยว  มีขอบใบทั้งแบบเรียบและแบบคลื่น  ผิวใบด้านบนเรียบเป็นมัน  ด้านล่างมีขนละเอียดหรือไม่มี  ดอกเป็นดอกเดี่ยวมีทั้งชนิดที่บานกลางคืนและบานกลางวัน  บางชนิดมีกลิ่นหอม  มีสีสันหลากหลายแตกต่างกันไป
  3. สกุลบัววิกตอเรีย (Victoria)  เป็นบัวในสกุล Victoria มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า บัวกระด้ง จัดเป็นบัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวใหญ่  ใบเป็นใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ประมาณ 6 ฟุต ลอยบนผิวน้ำ  ใบอ่อนมีสีแดงคล้ำเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม  ขอบใบยกขึ้นตั้งตรง  มีหนามแหลมตามก้านใบและผิวใบด้านล่าง  ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่  ก้านดอกและกลีบเลี้ยงด้านนอกมีหนามแหลม  บานเวลากลางคืนและมีกลิ่นหอม  ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบ ด้านนอกมีสีเขียวด้านในสีเดียวกับกลีบดอก  เมื่อเริ่มบานกลีบดอกจะมีสีขาวและจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูต่อไป
ขอบคุณข้อมูล  :  http://www.the-than.com/FLower/F18.html

ใส่ความเห็น